วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

1. ความหมายของปรัชญา
1.1 ปรัชญาคืออะไร

1.1.1 ความหมายของคำ “Philosophy” ตามรากศัพท์
คำว่า “Philosophy” มาจากคำว่า “Philosophia” (เป็นคำภาษากรีก
โบราณ) ซึ่งมาจากคำ “Philia” (แปลว่า “ผู้รัก”) และ “Sopia” (แปลว่า
“ความปราดเปรื่อง”)

ดังนั้น คำว่า “Philosophia” (Philosophy) จึงแปลว่า “ความรักในปรีชาญาณ” (Love of wisdom) เนื่องจากชาวกรีกโบราณมักเรียกตัวพวกเขาว่า “Wise men” เช่น Pythagoras (ราวปี 510 – 500 ก่อน ค.ศ.) ต้องการให้เรียกท่านว่า “Lover of wisdom” หรือ “Philosopher” นี่จึงเป็นที่มาของคำ “Philosophy” ซึ่งในสมัยต่อมา นักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) ก็ใช้คำว่า Philosophy มาแทนคำว่า “Wisdom”

สรุปแล้วคำว่า “Philosophy” ตามความหมายของภาษา คือ ความรักความปราดเปรื่อง ความปรารถนาจะเป็นปราชญ์ นั่นคือ การรู้ว่าตัวเองไม่ฉลาด แต่อยากฉลาด

1.1.2 ความหมายของคำ “ปรัชญา” (ภาษาไทย)
คำว่า “ปรัชญา” มีที่มาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณ) อดีตราชบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา เป็นผู้แปลศัพท์คำว่า Philosophy เป็นคำว่า “ปรัชญา” โดยใช้รากศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า “ชฺญา” (รู้/เข้าใจ) เติมอุปสรรค ปฺร เป็น ปฺรชฺญา รวมแปลว่า “ความปราดเปรื่องหรือความรอบรู้”

ดังนั้น คำว่า “ปรัชญา” (ภาษาไทย) จึงแปลว่า “ความรอบรู้ปราดเปรื่อง” ซึ่งเป็นความหมายในเชิงอวดตัว (ไม่เหมือนคำ Philosophy ซึ่งแสดงถึงความถ่อมตน) ความหมายของคำ “ปรัชญา” จึงไม่ตรงกับภาษาอังกฤษ/กรีก (Philosophy/Philosopia) มากนัก
1.1.3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “ปรัชญา”
แม้ว่าไม่อาจนิยามความหมายของ “ปรัชญา” ได้ตรง หรือได้มติทางการ/สากล เราบอกได้เพียงแต่ว่าปรัชญามีลักษณะอย่างไร แต่จะให้นิยามตายตัว
เหมือนศาสตร์อื่น ๆ เช่น ศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ คงไม่ได้

1.1.4 คำ “Philosophy” สะท้อนถึงอะไร
จากนิยามของคำว่า “Philosophy” แสดงถึงคุณลักษณะของมนุษย์ ว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีสติปัญญา (Intellectual) กล่าวคือ

มนุษย์ เป็นสัตว์ ต้องการอาหาร (เหมือนสัตว์) เพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่มนุษย์มีสติปัญญา มีความปรารถนาที่จะรู้ความจริง เพื่อตอบคำถาม “อะไร” และ “ทำไม” (Desire to know – Truth, What + why) เกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น (Cause of event and happening) รอบตัว

มนุษย์จึงหาคำตอบที่ “พอคิด/หาเหตุผลได้” เพื่อได้คำตอบ (What) และเหตุผล (Why)

1.1.5 สรุปความหมายของ “ปรัชญา”
สรุปความหมายของปรัชญาได้ว่า
ก. ปรัชญา คือ การแสวงหาความจริง อาศัยเหตุผล
ข. ปรัชญาคือการค้นพบความรู้เกี่ยวกับ “ความจริง” ซึ่งเป็นความรู้ที่อยู่เหนือความรู้ตามกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็น “ศิลป์” และเป็นความรู้ในฐานะ “ศาสตร์พิเศษ” ของมนุษย์

1.2 เรียนปรัชญาไปทำไม

1.2.1 ถ้าเรียนเพื่อใช้ประกอบอาชีพ อาชีพ “นักปรัชญา” คงตกงาน

1.2.2 ถ้าถามคนทั่วไป นอกจากจะไม่ได้คำตอบแล้ว เรายัง (อาจ) ได้คำถามเพิ่มเติมอีกว่าปรัชญาคืออะไร ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก หรือเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

1.2.3 เสนอแนะให้เริ่มต้น ด้วยการพิจารณาตัวอย่างขององค์กรที่นำปรัชญามาช่วยจัดระบบความคิด และอธิบายคำสอน จากร่องรอยในประวัติศาสตร์ พบว่ามีหลายองค์กร ที่นำปรัชญามาช่วยจัดระบบ และอธิบายคำสอนที่สำคัญองค์กรหนึ่ง ได้แก่ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะตัวอย่างที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีพัฒนาสู่ปัจจุบัน จากประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 ในบรรพที่ 2 ว่าด้วยเรื่องประชากรของพระเจ้า หมวดการอบรมผู้เตรียมเป็นศาสนบริกร (สมณะ) มีการกล่าวถึงการศึกษาวิชาปรัชญาในสองมาตราที่สำคัญ คือ

ก. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 มาตรา 250
ระบุว่าต้องศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยา อย่างน้อย 6 ปี (ปรัชญา อย่างน้อย 2 ปี และศึกษาวิชาเทววิทยาอีก 4 ปี) เพื่อเตรียมเป็นศาสนบริกร (บาทหลวง)

ข. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 มาตรา 251
ยังระบุต่ออีกว่า “การให้การศึกษาอบรมวิชาปรัชญาต้องมีพื้นฐานบนปรัชญาที่เป็นมรดกตกทอดกันมาที่ใช้ได้อยู่ตลอดเวลา และต้องคำนึงถึงการค้นคว้าทางปรัชญาแห่งยุคสมัยด้วย การศึกษาอบรมนี้ต้องมุ่งให้เสมินาร์ (Seminarian, ผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวง) มีการพัฒนาทางด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉียบแหลมและช่วยเขาให้มีความพร้อมมากขึ้นที่จะศึกษาเทวิทยาต่อไป”

จากตัวอย่างของประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก แสดงให้เห็นว่า พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก (โดยเฉพาะผู้นำ และนักวิชาการในศาสนาคริสต์) ซึ่งมีประสบการณ์ในการนำปรัชญามาช่วยจัดระบบและอธิบายคำสอนในคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ยุคแรก ยุคกลาง สืบจนยุคสมัยปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิชาปรัชญา เพื่อการพัฒนาสติปัญญาของผู้รับการอบรมสู่การเป็นบาทหลวง (สมณะ) ดังนั้น จากแนวทางของประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 จึงเป็นแนวทางให้สรุปได้ว่า เรียนปรัชญาเพื่อ
“คิดให้เป็น วิเคราะห์ได้
แก้ปัญหา (อธิบายความเชื่อ) ได้ แบบ มนุษย์”


2. แนวทางและความท้าทายของการศึกษาวิชาปรัชญา

2.1 แนวทางการศึกษาวิชาปรัชญา

จากตัวอย่างการสรุปความหมายของปรัชญาที่ได้นำเสนอไปข้างต้น (ข้อ 1.1.5) ว่า ปรัชญาเป็นการแสวงหาความจริง อาศัยเหตุผล และปรัชญา คือ การค้นพบความรู้เกี่ยวกับ “ความจริง” ซึ่งเป็นความรู้ที่อยู่เหนือความรู้ตามกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็น “ศิลป์” และเป็นความรู้ในฐานะ “ศาสตร์พิเศษ” ของมนุษย์ ซึ่งมีแนวทางการศึกษาวิชาปรัชญาได้ดังนี้

2.1.1 วิชาปรัชญาเป็นการศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ ตามเหตุผลของมนุษย์เกี่ยวกับความจริง” (ในฐานะที่มนุษย์ยุคปัจจุบันได้รับมรดก/อารยธรรมจากบรรพบุรุษ/มนุษย์ในอดีต) เพื่อเป็นพื้นฐาน

ก. คำถามเชิงปรัชญา – มีพื้นฐานจาก “ความไม่เคยชินกับโลกและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว/ในตัวเอง” นำสู่ “ความสงสัยแบบปรัชญา” ในประเด็นว่า สิ่งนั้น คืออะไร และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? (What + Why) แล้วจึงหาคำตอบอย่างสมเหตุสมผล

ข. คำตอบเชิงปรัชญา – การทำงานในระดับสติปัญญา (ผัสสะ – สติปัญญา) คิดหาคำตอบที่เป็นไปได้ตามเหตุผล (อย่างไม่มีวันสิ้นสุด) เพื่อตอบคำถามว่า
1) อะไรคือความจริง ทฤษฏีความจริง
2) รู้ความจริงได้อย่างไร ทฤษฏีความรู้
3) เอาอะไรมาตัดสิน (ความงามและความดี)
ทฤษฏีความงามและ
ทฤษฏีจริยศาสตร์

ค. ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำถาม
1) แต่ละวิทยาการ (ศาสตร์) ต่างมีคำถาม และพยายามหาคำตอบตามแนวทางของตน (ความเชื่อศรัทธา เหตุผล ประสาทสัมผัส)
2) ปรัชญาไม่สนใจคำถามหรือคำตอบ “ในรายละเอียดปลีกย่อย” เช่น ทำอย่างไรจึงได้ข้าว/ผลผลิตมากขึ้น ทำอย่างไรจึงบินได้ ทำอย่างไรจึงหุ่นดี ฯลฯ แต่ ปรัชญาสนใจคำถามที่เป็นส่วนลึกในจิตใจมนุษย์ เรามาจากไหน เราเป็นใคร เราจะไปไหนในวาระสุดท้ายของชีวิต
3) ปรัชญา ไม่มีการขีดเส้นตายจบตายตัวแบบ 1+1 เท่ากับ 2 ที่ทุกคนยอมรับ

2.1.2 จากพื้นฐาน (ความคิด/คำตอบในอดีตของนักปรัชญาเกี่ยวกับความจริง ความรู้ ความงาม ความดี) นำสู่ “คำตอบของเราแต่ละคน” หรือที่เรียกว่า “ปรัชญาชีวิต” นั่นเอง

2.2 ความท้าทายของการศึกษาปรัชญา คือ ยังไม่มีมติสากล

2.2.1 ปรัชญาไม่มีมติสากล แม้แต่คำว่า Philosophy เอง ยังไม่มีมติสากล เช่น ปรัชญาคือ ความรักในความจริง หรือ ปรัชญาคือ ความรักในความรู้ หรือปรัชญาคือการเปิดเผยการเผยแสดงของพระเจ้า เป็นต้น

2.2.2 ปรัชญายังคงมี ปัญหาที่แก้ไม่ตก ยังไม่พอใจต่อคำตอบที่ได้รับ

2.2.3 ประเด็นของปรัชญา คือ การตั้งคำถาม มากกว่าที่จะยอมรับคำตอบที่ได้รับ

3. ปัญหาและเป้าหมายของปรัชญา

แต่ละศาสตร์ ต่างมีคำถาม ปัญหา/โจทย์ของ แต่ละศาสตร์มุ่งสู่ความจริงในระดับ (ธรรมชาติของศาสตร์) ที่ต่างกัน เช่น 1+1 = 2 เป็นความจริงที่คณิตศาสตร์มุ่งหา (ด้านปริมาณ ตัวเลข)

3.1 มีการแบ่งศาสตร์ใหญ่ ๆ เป็น 3 ศาสตร์ ได้แก่ ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ (ต่างฝ่ายต่างมองว่าศาสตร์ของตนให้คำถามดีที่สุดเกี่ยวกับความจริง และหาเหตุผลมาอ้าง เพื่อบอกว่า คำตอบของศาสตร์ของตนดีที่สุด)

3.2 ความจริงเป็นหนึ่ง แต่มีหลายระดับและหลายมุมมอง แต่ละศาสตร์จึงต้อง รับผิดชอบที่จะตอบโจทย์/คำถาม/ปัญหา ของตน โดยแต่ละศาสตร์มีสมมติฐานที่แต่ละศาสตร์ยึด โดยแยกเป็นแต่ละศาสตร์
ได้คือ

3.2.1 ศาสนา มุ่งความจริงที่อยู่เหนือประสบการณ์ทางผัสสะ หรือความจริงสูงสุด (ความรอดพ้น) ซึ่งสามารถอธิบายได้หรือไม่ได้ด้วยเหตุผลทั้งครบ

3.2.2 วิทยาศาสตร์ มุ่งความจริงที่สัมผัสได้ พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ในระดับประสาทสัมผัส

3.2.3 ปรัชญา มุ่งความจริงที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผล อาศัยสติปัญญาของมนุษย์

3.3 ปัญหา/เป้าหมายของปรัชญา คือ ความจริงที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผล

3.3.1 หลักการ (สมมติฐาน) ของปรัชญาคือ ความจริง เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ เข้าใจได้ด้วยสติปัญญามนุษย์

3.3.2 ปรัชญายอมรับเฉพาะความจริง/สิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล (นามธรรม และ รูปธรรม) ปรัชญาพยายามปฏิเสธสิ่งที่เป็น “ความเชื่อ ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุผล” ปรัชญาจึงเป็นการรู้ความจริงที่ไม่ต้องพึ่งพิงคำตอบจากสวรรค์ แต่พยายามบรรลุถึงความจริง ด้วยสติปัญญาหรือการใช้เหตุผลของมนุษย์

3.3.3 ตัวอย่างคำถามเชิงปรัชญา ได้แก่

1) ปัญหาเรื่องธรรมชาติมนุษย์ เช่น มนุษย์คืออะไร
2) ปัญหาเรื่องธรรมชาติของโลก เช่น อะไรเป็นปฐมธาตุ
3) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ เช่น มนุษย์รู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร
4) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น มีมาตรการความดีความชั่วหรือไม่


4. อัตลักษณ์และข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญา
4.1 อัตลักษณ์ของปรัชญา

4.1.1 ปรัชญาไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มาจากการที่มนุษย์พบเห็นสิ่งต่าง ๆ และมนุษย์สงสัยในสิ่งที่ตนพบเห็น (มีประสบการณ์ถึงสิ่งนั้น ๆ ) (ความไม่เคยชินกับโลก)

4.1.2 ปรัชญามีลักษณะเป็น “โลกทัศน์ในยุคสมัย” (World-view) พยายามตอบปัญหาประเด็นร้อนในยุคสมัยนั้น ๆ เช่น ปัญหาปฐมธาตุ ปัญหาเรื่องพระเจ้า ปัญหาเรื่องความรู้ ปัญหาเรื่องความประพฤติ ฯลฯ ตามความสนใจของสภาพสังคมสมัยนั้น ๆ ปรัชญาจึงเป็นการสะท้อนถึงความคิด ความสนใจของมนุษย์ในสมัยหนึ่ง (ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่การศึกษาวิชาปรัชญาจึงมีความจำเป็น ต้องศึกษาสภาพสังคมในสมัยนั้น ๆ ด้วย) เช่น สมัยกรีก สภาพสังคมสงบ เต็มด้วยปัญญาชน ไวน์ชั้นดี มีข้าทาสบริวารคอยรับใช้ ฯลฯ อันเป็นบริบทในสมัยนั้น ส่งผลให้ปรัชญากรีกจึงมีแนวคิดและประเด็นคำถามสอดคล้องกับบริบทสมัยกรีก เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของปรัชญา คือ


ก. ปรัชญาอิงพื้นฐานของสังคม
ข. ปรัชญาให้คำตอบแก่สังคม

ดังนั้น ปรัชญาจึงเป็นระบบแห่งความคิดของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ณ สมัยใดสมัยหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงไปได้ตามความเป็นไปของมนุษย์ ตามกาลสมัยนั้น ๆ

4.1.3 ปรัชญามีลักษณะเป็นวิพากษ์ (Critical) เกิดจากความสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจ หาคำตอบโดยใช้เหตุผลที่เป็นไปได้

ก. คำตอบที่ 1 และเหตุผลอธิบาย (Thesis)
ข. คำตอบที่ 2 (ที่ตรงข้ามกับคำตอบที่ 1) และอธิบายด้วยเหตุผล
(Antithesis)
ค. คำตอบที่ 3 (ที่อาจประสานระหว่างคำตอบที่ 1 และ 2 หรือเป็นคำตอบคนละแนวกับคำตอบที่ 1 และ 2) และยกเหตุผลมาอธิบาย (Synthesis) และคำตอบที่ 3 นี้ (อาจ) เป็นแนวทางคำถามสู่ประเด็นต่อไป

4.1.4 ปัญหา/โจทย์ของปรัชญาเป็นปัญหาพื้นฐาน (ยังเอาไปใช้ไม่ได้) เป็นเหมือนวัตถุดิบ (ข้าวเปลือก) ไม่สนใจรายละเอียด ไม่สนใจองค์ประกอบย่อย ไม่สนใจว่าจะเอาไปใช้อย่างไร เช่น มนุษย์คืออะไร? ทำอย่างไรจึงมีความสุข (ไม่สนใจว่าทำอย่างไรจึงสวย หล่อขึ้น สูงขึ้น ขาวขึ้น เป็นต้น)

4.2 ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญา : ปรัชญาเป็น “ศาสตร์” หรือไม่?

4.2.1 ปรัชญาเป็น “ศาสตร์” หรือไม่ เนื่องจาก

ก. นิยามของศาสตร์ ระบุว่าศาสตร์ต้องมีลักษณะที่แน่นอน ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ปรัชญาให้คำตอบที่ไม่แน่นอน ไม่ตายตัว บางครั้งจุดเน้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา/ยุคสมัย/สภาพสังคม

ข. วิธีการได้มาซึ่งความรู้ของศาสตร์คือ การทดลอง พิสูจน์ด้วยหลักการ ในขณะที่วิธีการได้มาซึ่งความรู้ทางปรัชญา ไม่ได้ผ่านกระบวนการทดลองและพิสูจน์ด้วยหลักการแบบศาสตร์อื่น ๆ (โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์)





4.2.2 ปรัชญา เป็นศาสตร์ เนื่องจาก

ก. ปรัชญาเป็นความรู้ที่แน่นอนเรื่องสาเหตุ ปรัชญาสนใจสาเหตุของทุกสิ่ง (ควรมองที่เนื้อหา ไม่ใช่รายละเอียดของคำตอบ)

ข. ในขณะที่ศาสตร์ทั่วไป (โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์) มีการทดลอง พิสูจน์ด้วยหลักการและออกมาเป็นทฤษฏี และแม้ว่าปรัชญาจะไม่มีการทดลองและออกเป็นหลักการ แต่ปรัชญาเป็นการศึกษาหลักการพื้นฐานของความรู้ ซึ่งศาสตร์อื่น ๆ ไม่ได้ทำ ไม่สนใจ กล่าวคือ ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่ แต่สนใจว่ามันประกอบหรือมันเป็นไปอย่างไร ปรัชญาจึงเป็นศาสตร์แท้จริงและเป็นพื้นฐานของศาสตร์ทั้งหลาย

4.2.3 ปรัชญา เป็นศาสตร์พิเศษ เนื่องจาก

ก. “เนื้อหา/เป้าหมาย” ของปรัชญา กล่าวคือ ปรัชญาศึกษาความเป็นจริงในด้านคุณค่า (ความหมายของความเป็นจริง) และมุ่งสู่สาเหตุสูงสุด (Ultimate cause) ในขณะที่ศาสตร์เฉพาะทาง (วิทยาศาสตร์) ศึกษา/สนใจคุณลักษณะเฉพาะของความเป็นจริง เช่น ดอกไม้สีแดง ปรัชญาสนใจดอกไม้ในฐานะสิ่งที่มีอยู่ ในขณะที่ศาสตร์เฉพาะจะสนใจรายละเอียด เช่น โครงสร้าง สี อายุ ฯลฯ

ข. ปรัชญาเป็นทั้งเอกภาพและหลากหลาย กล่าวคือ ปรัชญามีความเป็นเอกภาพด้าน “เนื้อหา/เป้าหมาย” แต่หลากหลายด้าน “คำตอบ” และกล่าวได้ว่าปรัชญาเป็นรากฐานของศาสตร์ทางทุกประเภท เพราะก่อนที่เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้น คือ อะไร ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ปรัชญาพยายามมุ่งตอบ

4.2.3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการได้ความรู้/ความจริงซึ่งเป็นเป้าหมายของ/ทางปรัชญา

เพื่อจะได้มาซึ่งความรู้ทางปรัชญา เราต้องใช้การทำงานของประสาทสัมผัสและสติปัญญา เพื่อหา “สาเหตุแรก” สิ่งสากล มโนภาพของสิ่งนั้น ปรัชญาเน้นการทำงานของสติปัญญา สนใจ “สารัตถะ” (Essence) ของสิ่งต่าง ๆ (Sense evidence - Intellectual evidence) สิ่งที่ปรากฏในสติปัญญา เช่น มนุษย์ ปรัชญาสนใจ “มโนภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นสากล” ไม่ใช่ปัจเจก อะไรที่ทำให้ นาย ก. นาย ข. เป็น มนุษย์ ดังนั้น จึงมีการเรียกปรัชญาว่า “อภิปรัชญา/Metaphysic” (เหนือกายภาพ)

5. คำแนะนำบางประการในการศึกษารายวิชาปรัชญา

5.1 การศึกษาในห้องเรียนเป็นแค่การปูทาง แต่ต้องมีการไปศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่การศึกษาค้นคว้าหนังสือ ตำราปรัชญา (ภาษาไทย-อังกฤษ)

5.2 อย่าลืม “คำถามของปรัชญา” จะวนอยู่สามเรื่อง คือ ความจริงคืออะไร รู้ได้อย่างไร เอาอะไรมาวัด

5.3 ท่าทีของการศึกษาปรัชญา คือ จงศึกษาในบริบทของนักคิดท่านนั้น ไม่ใช่ยึดตัวผู้ศึกษาเป็นหลัก เช่น เมื่อศึกษาวัตถุนิยม (ซึ่งแน่นอนว่า มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า) จงอย่านำพื้นฐานของนักศึกษา (เชื่อในพระเจ้า) และมองวัตถุนิยมแต่เพียงด้านลบอย่างเดียว เป็นต้น


6. สรุปประจำบท

ปรัชญามีลักษณะเป็น “ศาสตร์” และ “ศิลป์” กล่าวคือ เป็นทั้งการศึกษาหลัก/ความคิดของนักปรัชญา และการนำมาเป็นแนวคิด/หลักของเราเอง (ปรัชญาชีวิต) ดังที่ อิมรอน มะลูลีม (2539: 5) ได้เสนอความคิดว่า “ปรัชญาหมายถึงสองอย่างสำคัญ นั่นคือ ความรู้กับวิถีชีวิต...ความหมายของปรัชญาจึงมีสองทาง คือ ปรัชญาในฐานะที่เป็นความรู้และปรัชญาในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต” ปรัชญาจึงเป็นวิถีทางที่สำคัญ อันประกอบด้วยการมีชีวิตอยู่ให้เป็นไปตามความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายชีวิตนั่นเอง